กรมอนามัย พร้อมให้ข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์สำหรับคุณ
ที่มาและความสำคัญ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภาคของประเทศ ทรงพบปัญหาความยากจนและชีวิตความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นของประชาชนด้วยพระองค์เอง โดยเฉพาะทรงเป็นห่วงคุณภาพชีวิตของเยาวชนในชนบทที่เป็นโรคขาดสารอาหาร และมีมาตรฐานทางการศึกษาต่ำ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชน รวมทั้งประชาชนในถิ่นทุรกันดาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร" ตั้งแต่ปี 2523 ทั้งนี้เพื่อเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ปัญหาด้านอาหาร โภชนาการ สุขภาพอนามัย อนามัยสิ่งแวดล้อม ไอโอดีนรวมทั้งสุขภาพอนามัยของเด็กเยาวชนและประชาชน ซึ่งจำเป็นต้องมีฐานข้อมูลเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม การกำกับติดตามผลการดำเนินงาน รวมถึงการใช้ประโยชน์ของฐานข้อมูลร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี จึงได้พัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ Royal Projects Health Information Center (RPHIC) เพื่อให้โรงเรียนในโครงการพระราชดำริเขตสุขภาพที่ 8 ใช้ในการบันทึกข้อมูลและใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลดังกล่าวร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
วัตถุประสงค์
เพื่อพัฒนาโปรแกรมบันทึกข้อมูลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ
ประโยชน์ของโปรแกรมบันทึกข้อมูลฯ
1. มีระบบฐานข้อมูลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโรงเรียนในโครงการพระราชดำริ เพื่อลดการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อนรักษาความถูกต้องของข้อมูล รวมถึงการป้องกันและรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
2. สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการวิเคราะห์เพื่อทำแผนงาน/โครงการ การติดตามผลการดำเนินงานและการคาดการณ์สถานการณ์สุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม โรงเรียนในโครงการพระราชดำริ
3. บูรณาการข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมโรงเรียนในโครงการพระราชดำริร่วมกัน
ศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี รับผิดชอบการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมโรงเรียนในโครงการพระราชดำริฯ เขตสุขภาพที่ 8 โดยมีโรงเรียนในโครงการพระราชดำริจำนวน 92 แห่ง ได้แก่ ตชด.23 จำนวน 9 แห่ง ตชด.24 จำนวน 18 แห่ง โรงเรียนสพฐ.กพด. จำนวน 44 แห่ง ศูนย์ส่งเสริมพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ จำนวน 21 แห่ง นักเรียนจำนวน 14,100 คน ขับเคลื่อนงานภายใต้โครงการการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร เขตสุขภาพที่ 8